แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวในสมัยของ Sharing Economy
ได้กลับไปสะพายเป้เที่ยวยุโรปเป็นครั้งแรกหลังจากเรียนจบมา แล้วก็ทดลองค้นหาด้วยตัวเองว่า ใน 4 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มบนอินเตอร์เน็ต และ Sharing economy ได้ disrupt อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ไปอย่างไรบ้าง กับสองสัปดาห์ที่ผมไม่ได้จองโรงแรมเลย แต่หาบ้านด้วย Airbnb, หาคนขับรถด้วย Uber และเดินทางด้วย bike share
Airbnb คือตลาดนัดสำหรับห้องเช่า ซึ่งคำว่าห้องนี้จำกัดความอย่างหลวมๆ จนครอบคลุมตั้งแต่ sofa bed ตัวเดียว ไปจนถึงเรือยอชต์และปราสาทจากยุคกลาง ข้อดีของ Airbnb คือมันไม่ใช่โรงแรมครับ เราไม่ได้เข้าใช้บริการของเครือยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แต่เราจะได้ทำความรู้จักกับคนท้องที่ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจริงๆ ที่จะแนะนำบาร์แบบโคตร local ให้เรา ทำอาหารให้เรากิน หรือชวนเราคุยเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนข้อเสียของ Airbnb ก็คือมันก็ไม่ใช่โรงแรม เพราะฉะนั้นจะไม่มีเคาน์เตอร์เช็คอิน 24 ชม. และบางทีเราก็ได้ห้องที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะ เช่นกระจกมีคราบสนิม หรือหัวเตียงมีรูปบรรพบุรุษของเจ้าของบ้าน ถ้าไม่ถือเรื่องแบบนี้ก็โอเคนะ
จุดที่ผมชอบที่สุดก็คือโลเคชั่น คนที่เคยหาโรงแรมจาก Booking หรือ Agoda เองจะรู้ว่าในย่านกลางเมืองหรือใกล้สถานีรถไฟ จะหา 2-3 ดาวไม่ได้เลย ต้องออกไปชานเมืองเป็นอย่างน้อยใช่ไหมครับ แต่พอลองหาใน Airbnb เรามีตัวเลือกว่าอยากจะอยู่แฟลตกลางเมืองที่กะทัดรัด และต้องปีนบันไดหน่อย -หรือ- ที่พักสบายๆ ที่นั่งเล่นเยอะ ที่อยู่ห่างออกไป ผมเลือกไปอยู่ในย่านกลางเมืองที่สะดวกต่อการเดินทาง ในราคาห้องที่หารต่อหัวแล้วไม่ต้องคิดมากเลย เพราะเราสามารถหาห้องที่นอนได้ 4-6 คน ไม่เหมือนโรงแรมที่พยายามให้เราจองมากห้องที่สุด
ไม่น่าแปลกใจที่ในหลายๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมโรงแรมต้องล็อบบี้ (no pun intended) อย่างหนักหน่วงให้ห้องเช่าที่อยู่บน Airbnb ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานการโรงแรม และจ่ายภาษีการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับโรงแรมที่จดทะเบียนตามปกติ รวมถึงเจ้าของบ้านที่อยู่ในคอนโดหรือแฟลตร่วม ซึ่งไม่สบายใจกับห้องเช่าของเพื่อนบ้านที่ปล่อยผ่าน Airbnb และมีคนแปลกหน้าเข้าออกไม่เว้นวัน แต่ในขณะเดียวกัน Airbnb ก็เป็นช่องทางหาเลี้ยงชีพที่สำคัญทางหนึ่งของคนที่ทำงานและพักอาศัยในย่านที่ค่าเช่าแพงลิบเช่น San Francisco ได้ใช้ปล่อยเช่าโซฟารับแขก หรือห้องนอนในช่วงที่ตนเองไม่อยู่บ้าน ซึ่งความขัดแย้งนี้ก็ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
อีกมุมหนึ่งที่เป็นเรื่องราวไม่แพ้กันคือ Uber แท็กซี่ที่เรียกจากแอพมือถือ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นแท็กซี่ไฮโซน้องๆ ลิมูซีน แต่ในยุโรปซึ่งแท็กซี่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าลิมูซีนอยู่แล้ว Uber เป็นตัวเลือกที่ถูกกว่าและไว้ใจได้มากกว่า โดยค่าโดยสารของ Uber นั้นจะประเมินให้ตั้งแต่ก่อนเรียก และคิดตามจริงเป็น ก.ม. ยกเว้นสนามบินที่จะเป็นราคาเหมา และหลายครั้งทีเดียวที่เราพบว่าราคาเหมาของ Uber นี้ถูกกว่าราคาตั๋วรถเมล์เข้าเมืองเมื่อซื้อรวมกันแล้ว
ผมมีโอกาสได้ใช้ Uber ครั้งแรกที่กรุงปารีส ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคนขับ Uber เยอะที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของการประท้วงของคนขับแท็กซี่ ต่อการเข้ามาแย่งงานโดย Uber ด้วยเช่นกัน ความประทับใจแรกคือโชเฟอร์ช่วยเราไว้ไม่ให้ตกเครื่องบินครับ เช้าวันที่จะออกไปสนามบิน ผมต้องแวะไปคืนสเก็ตเช่าก่อน ปรากฏว่าพอไปถึงร้านยังไม่เปิด พวกเราก็มองกันเลิ่กลั่กเพราะต้องไป check-in ใน 1 ชม.
ผมบอกว่าให้ทิ้งผมไว้นี่ก่อนแล้วพาคนอื่นไปสนามบิน เดี๋ยวผมจะนั่งรถไฟตามไปทีหลัง โดยไม่รู้ว่าวันนั้นการรถไฟสไตรค์1 คุณ Sidy คนขับรถของเราบอกว่า “ถ้าให้ผมเหยียบไปอาจจะมีลุ้น แต่ถ้ารอรถไฟ คุณตกเครื่อง 100%”
พี่คนขับหยุดมิเตอร์ เอารถจอดในซอย แล้วเดินถามชาวบ้านในละแวกนั้นอยู่ครึ่งชั่วโมงจนผมได้มัดจำคืนในที่สุด เสร็จแล้วเราก็กด book ผ่านแอพอีกรอบเพื่อยิงขึ้นทางด่วนไปสนามบิน Orly ผมขอบคุณแกอยู่หลายยกพร้อมทั้งกดให้คะแนนห้าดาว นี่คือมาตรฐานการบริการของ Uber: โชเฟอร์เปิดประตูรถให้ ยกกระเป๋าให้ มีขวดน้ำให้ดื่มในรถ และเซอร์วิสอย่างดีเพราะมีระบบ reputation
คนขับรถของ Uber มีอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือคนขับลิมูซีนมืออาชีพที่วันนั้นไม่ได้วิ่งรถ จึงมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นแท็กซี่แทน กับรถบ้านที่เป็นคนธรรมดา อาจจะมีงานประจำอย่างเราๆ ท่านๆ และอาศัยเวลาว่าง เอารถส่วนตัวมาใช้หารายได้เสริม โดยที่ไม่ต้องมีใบขับขี่ชนิดพิเศษ หรือขอใบอนุญาตใดๆ
ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ามาเฟียแท็กซี่จะต้องเสียผลประโยชน์มากเพียงใด ผู้โดยสารอย่างเรา จะเป็นคนโหวตด้วยธนบัตร ว่าระหว่างกฎหมายและสารพันข้อบังคับของกรมขนส่ง กับบริษัทซอฟต์แวร์ ใครจะให้บริการผู้บริโภคได้ดีและปลอดภัยกว่ากัน
ถ้าให้ผมนิยาม Sharing economy คือระบบเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของน้อยลง และให้ความสำคัญกับตัวประสบการณ์มากขึ้น
ปี 2013 เป็นหลักกิโลที่สำคัญเพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประชากรมนุษย์อาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร? เมื่อคนใน generation ผม ทิ้งบ้านหลังใหญ่ชานเมืองของพ่อแม่ มาซื้อคอนโดเล็กๆ ที่ราคาต่อตร.ม.แพงกว่ากัน 10-20 เท่า พวกเรากำลังส่งสัญญาณว่าเราเห็นคุณค่าของการบริโภคไลฟ์สไตล์ในเมือง ตั้งแต่ที่ทำงานจนถึงร้านกิน-เที่ยว-ดื่ม มากกว่าการมีบ้านหลังโตไว้อวดเพื่อนบ้าน แต่ต้องขับรถ 30 ก.ม. เข้ามาเดิน Central Embassy และเรายอมไม่มีสนามหญ้ากับโรงรถส่วนตัว แลกกับการมีฟิตเนสและสระว่ายน้ำเมื่อไหร่ก็ตามที่เราอยากใช้
เมื่อคนจำนวนมากอยู่รวมกันในเมืองที่หนาแน่น การแบ่งปันทรัพยากรก็กลายเป็นเรื่องคุ้มทุนโดยธรรมชาติ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือจักรยานซึ่งเป็นพาหนะสำหรับเคลื่อนจากจุด A ไป B ได้คล่องตัว แถมยังแก้ปัญหาสารพัดได้ด้วยกระสุนนัดเดียว ทั้งรถติด มลภาวะ โรคอ้วน ขาดดุลพลังงาน ฯลฯ ปัญหาคือจักรยานที่จอดไว้โดนขโมยง่ายมาก และสถานบริการเอกชนจะไม่สร้างที่จอดจักรยานจนกว่าคนจำนวนมากจะใช้จักรยานเสียก่อน เป็นเรื่องของไก่กับไข่
ตอนผมอยู่ฝรั่งเศสในปี 2010 ปารีสเป็นเมืองหลวงแห่งแรกๆของโลก2 ที่เพิ่งริเริ่มระบบเช่าจักรยานภายใต้ชื่อ Vélib’ ได้ไม่นาน ความง่ายของ Vélib’ คือจักรยานทุกคันเหมือนกันหมด เราหยิบมาคันนึงจากสถานีใกล้บ้าน ขับไปไหนก็ได้แล้วจอดคืนที่สถานีปลายทาง ไม่ต้องกลัวหายเพราะไม่ใช่จักรยานของเรา ไม่ต้องแบกขึ้นบันไดหรือลงรถไฟ และถ้าเดินทางไม่เกิน 30 นาที ไม่มีค่าบริการ
ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ Vélib’ ได้กระตุ้นให้เมืองใหญ่ทั่วโลก ตั้งแต่มิวนิค นิวยอร์ค ตลอดจนกรุงเทพฯ ต่างตื่นตัวและเริ่มให้บริการ bike sharing ในรูปแบบของตน ระหว่างที่ท่องเที่ยวในกรุงลอนดอนและปารีส ผมใช้แอพ Bicyclette ซึ่งรวมข้อมูลจากเครือข่าย bike share ในกว่า 100 ตัวเมือง มาแสดงแผนที่ว่าสถานีที่ใกล้สุดอยู่ที่ไหน และยังมีจักรยานเหลืออยู่กี่คันบ้าง ซึ่งเป็นโชคดีอย่างเหลือเชื่อครับที่เทศบาลเมืองต่างๆ มีวิสัยทัศน์พอที่จะทำให้ข้อมูล real-time เหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ
แต่ท้ายที่สุด กุญแจสำคัญที่ทำให้ Sharing economy เกิดขึ้นได้ในระดับรากหญ้าก็คือเทคโนโลยี เพราะอินเตอร์เน็ตได้ให้กำเนิดแพลตฟอร์มของความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ทำให้เราพร้อมจะให้นักท่องเที่ยวจากต่างเมืองมาเช่าห้องนอนของเรา หรือทำให้เรากล้าขึ้นรถของคนแปลกหน้า โดยดูแค่ว่าเขามีคะแนน review เท่าไหร่ โดยที่รู้สึกค่อนข้างอุ่นใจว่าถ้ามีเหตุไม่ดีอะไรเกิดขึ้น บริษัทเหล่านี้มีมาตรการชดเชยเพื่อรักษาชื่อเสียงของตัวเอง
-
การรถไฟฝรั่งเศสเป็นเจ้าพ่อแห่งการสไตรค์อยู่แล้ว แต่การหยุดงานประท้วงร่างพรบ. ที่จะแปรรูปควบรวมการรถไฟครั้งนี้เป็นครั้งที่ผู้บริหารเรียกว่าแย่ที่สุดในรอบ 13 ปี ↩
-
อันที่จริงเนเธอร์แลนด์มีโครงการจักรยานให้เช่าจากสถานีรถไฟมาตั้งแต่ปี 2003 ในขณะที่ฝรั่งเศสเพิ่งมีในปี 2007 แต่โครงการกลับได้รับความนิยมช้ากว่าเนื่องจากชาวดัตช์ส่วนมากใช้จักรยานส่วนตัวปั่น และ infrastructure ของที่จอดจักรยานในเมืองก็เพียบพร้อมอยู่แล้ว ↩