Mt. Gox
กาลครั้งหนึ่ง วอลุ่มการเทรด Bitcoin เกือบทั้งตลาด วิ่งผ่านเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ Mt. Gox แต่ไม่มีใครรู้ว่า Mt. Gox โดนเจาะระบบหลายครั้ง ระหว่างปี 2011-2014 ราคา BTC ยังคงทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง เจ้าของจึงปิดข่าวไว้ โดยหวังว่าวันหนึ่งด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น กำไรจากค่าธรรมเนียมจะเข้ามาอุดรูรั่วของเงินที่หายไป
นาย Mark Karpelès คงไม่ตั้งใจเรียนเลขเท่าไหร่ เมื่อ BTC แพงขึ้น Bitcoin ส่วนที่หายไปก็แพงขึ้นด้วย สุดท้ายไม่รอด เดือนกุมภาพันธ์ 2014 เว็บไซต์ Mt. Gox ยื่นล้มละลาย พร้อมทั้งแจงรายละเอียดว่าทำเงินลูกค้าหายทั้งหมด 127,000 คน รวมมูลค่าหนี้สิน 2 พันล้านบาท
ศาลล้มละลายญี่ปุ่นแต่งตั้งคุณ Kobayashi เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทซึ่งเหลือประมาณ 200,000 BTC และมีการบันทึกสภาพหนี้ของเจ้าหนี้ทุกคนเป็นเงินเยน ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันล้มลาย ที่ 1 BTC = $483
จากนั้น ความเงียบ
ในปี 2017 ราคา BTC พุ่งเกิน $2,400 หมายความว่ากิจการมีมูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าหนี้แล้ว
ต้นปี 2018 ราคา BTC ไต่ขึ้นเฉียด $20,000 ทำให้คุณ Kobayashi แอบไปขออนุญาตศาล เพื่อนำ Bitcoin บางส่วนออกมาขายทอดตลาด การเทขายจำนวนกว่า 35,000 BTC นี้ส่งผลให้ฟองสบู่ Bitcoin แตกอีกครั้ง จนปรับฐานลงมาที่ $6,300
Mt. Gox มีเงินสดพอจะใช้คืนเจ้าหนี้ทุกคน
พร้อมกับมี Bitcoin เหลืออีกกว่า 160,000 BTC (4.3 หมื่นล้านบาท) มากกว่ามูลค่าหนี้ตอนแรกถึง 20 เท่า!
ตามกฎหมายล้มละลาย ทรัพย์ส่วนที่ไม่มีเจ้าหนี้เคลม ก็จะตกแก่เจ้าของกิจการ บรรดาเจ้าหนี้ที่โกรธแค้นก็รวมเงินกันจ้างทนายเพื่อบล็อคไม่ให้นาย Karpelès หอบเงินหลายหมื่นล้านกลับบ้าน
ส่วนคุณ Kobayashi ก็เรียนให้พวกเราทราบว่าอาจจะมีการขายส่วนที่เหลืออีก แต่ไม่บอกว่าวิธีไหน เพื่อให้ไม่กระทบราคาตลาด แล้วก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าเงินจะตกเป็นของใคร
Mt. Gox เป็นเว็บไซต์เดียวที่ทำราคา BTC ดิ่งหัวปักถึง 3 หน ในปี 2013, 2014, และ 2018 แต่ศึกสุดท้ายนี้น่าจะซัดกันนัวที่สุด มีแลมโบนับร้อยคันเป็นเดิมพัน