MedTech
2 ปีที่ผ่านมานี้ ผมไปทำ therapy ที่รามาฯ ได้เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยอย่างกับเซเว่น หัวข้อหนึ่งที่วนไปคิดบ่อยครั้งคือ เทคโนโลยีจะ reinvent วงการสาธารณสุขยังไงบ้าง
รพ. เป็นสถานที่สาธารณะที่ซับซ้อนที่สุดที่คนทั่วไปจะต้องเจอ (อาจจะยกเว้น Siam Square One) ตรวจคลื่นหัวใจชั้น 3 เอกซเรย์ตึกเก่าชั้น 7 เก็บฉี่มาส่งชั้น 2 อย่าลืมเอาเอกสารทั้งหมดมาวันนัด อย่าลืมหอบเอกสารไปทุกที่เอง ถึงแม้มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แพร่หลาย แต่ยังไร้กระดาษได้ไม่สุด น่าจะ digitize ทุกอย่างแล้ว link ด้วย HN รหัสเดียวพอ เสร็จแล้วช่วยเปลี่ยนบัตรโรงพยาบาลเป็น RFID wristband ด้วยนะ จะได้ทำ wayfinding แบบแตะจอแล้วมีป้ายบอกทางว่าต้องเดินไปไหนต่อ
ในส่วนของการแพทย์ ผมเคยคิดว่า disruption จะมาในรูปของการรวมศูนย์ผู้เชี่ยวชาญ + เทคโนโลยีประชุมทางไกล เหมือนที่เกิดกับ knowledge workers ในความเป็นจริง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในระดับหนึ่ง โรงพยาบาลเองก็มี tiering จากอนามัยตำบล ถึงรพ.จังหวัด ถึงโรงเรียนแพทย์ แต่ telemedicine ยังคงติดข้อจำกัดเรื่องของอุปกรณ์ราคาแพงระยับ และบุคลากรที่มีความชำนาญในการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นด้วย ทำให้อุปกรณ์เฉพาะทางพวกนี้ยังต้องรวมศูนย์อยู่ ระบบส่งตัวแบบปัจจุบันน่าจะใช้ได้ไปอีกเป็นสิบปี
ฝั่งที่เป็น consumer tech มาไวกว่ามาก พอไม่ติด bureaucracy + regulations เทคโนโลยีมันมาถึงแล้วที่นาฬิกาของเราจะจับตาดูความดัน ชีพจร น้ำตาล ได้ตลอด 24/7 ขาดแต่กลไกมาตรฐานที่จะ push ค่าเหล่านี้เข้าไปในเวชระเบียน (OAuth for HealthKit?) เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ก็จะปลดล็อคการ followup จากที่บ้าน แบบที่หมอแค่โผล่หน้ามาใน Skype เพื่อถามว่าเรารู้สึกยังไงบ้าง แล้วก็ดูกราฟย้อนหลังทั้งสัปดาห์ไปด้วย หรือในทางกลับกันอาจจะสลับเป็น push model คือเมื่อ รพ. เห็นว่าค่าดูไม่ปกติ ก็สร้างนัดหมายให้เข้ามาตรวจกับหมอเพิ่มเติม
ในท้ายที่สุด endgame ของเทคโนโลยีคือ automation ฉะนั้น งานที่หุ่นยนต์ยึดไปทำ น่าจะเกิดขึ้นตามลำดับนี้:
การวินิจฉัยอาการเบื้องต้น เป็น low hanging fruit ที่ผมอยากเห็น รพ. แก้ก่อนด้วย app, chatbot, หรือระบบโต้ตอบอื่นๆ ที่จะบอกว่าถ้าเป็นไข้ 37° วันแรก ไม่ต้องถ่อมาหาหมอ จะทุเลาปัญหาขาดแคลนบุคลากรได้
การวินิจฉัยอาการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือ expert system แบบ IBM Watson ซึ่งอัปเดตความรู้กับวารสารและงานวิจัยล่าสุดเสมอ
การดูแลและถึงตัวผู้ป่วย ส่องกล้อง ใส่ท่อ ทำคลอด จุดที่ยากคือจะสร้างเครื่องกลที่มีความยืดหยุ่นพอสำหรับงานทุกอย่างนี้ และให้ความรู้สึกสบายใจเหมือนอยู่กับมนุษย์ได้ยังไง
งานฝีมือเช่นผ่าตัด เย็บแผล ในทีแรก เราจะเจอกันครึ่งทางก่อนเหมือนรถยนต์ไร้คนขับ ให้หมอควบคุมแขนกลเพื่อทำศัลยกรรมประสาท แต่พอเราให้หุ่นยนต์เรียนเคสเยอะๆ เข้า ด้วย machine learning อัตราความผิดพลาดของมันก็จะต่ำกว่ามนุษย์สักวัน กลายเป็นเหมือนโดรนทิ้งระเบิดสหรัฐฯ กดปุ่มเดียวล็อคเป้า แล้วจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้แค่ในส่วนของ public health คือทำอย่างไรให้ประชากรเข้าถึงบริการทางสุขภาพในราคาถูกที่สุด ถือเป็นวาระสำคัญที่ตัดสินผลการเลือกตั้งของหลายๆ ประเทศเลย
ส่วนการแพทย์สำหรับคนรวย top 1% คงมี personalized medicine, gene therapy หรืออะไรที่ผมนึกไม่ถึงอีก ตรงนั้นไม่ต้องห่วงมาก เพราะเม็ดเงินกับแรงจูงใจมันมีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นในรูปคือ MedPod ครบวงจร ของบ. Weyland ครับ