เอายังไงกับสื่อดี

มีเพื่อนๆ คนไหนเป็นคอหนังวันสิ้นโลก แนวๆ ภัยพิบัติหรือโรคระบาดไหมครับ? องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของหนังเหล่านี้คือการเผยสัญชาตญาณของมนุษย์ คนที่เคยมีหลักการ เมื่อถึงคราวเข้าตาจนก็อาจจะทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอด

ในโลกความเป็นจริง ภัยพิบัติเหล่านี้ก็ไม่ใช่อะไรนอกจาก disruption ที่พวกเราซึ่งกวัดแกว่งเทคโนโลยีไว้ในมือชอบพูดถึงหนักหนา และตัวละครที่น่าจับตาที่สุดในตอนนี้คืออุตสาหกรรมข่าว

ปกติ สื่อจะมีกองบรรณาธิการที่ควบคุมมาตรฐานคุณภาพของข่าว เพราะผู้บริโภคเลือกสื่อจากชื่อแบรนด์ (ดูทีวีช่องไหน บอกรับหนังสือพิมพ์เจ้าไหน) แต่เราได้สอนเด็กยุคใหม่ว่าทีวีไม่มีอะไรน่าดู เมื่อเทียบกับ YouTube ซึ่งเราเลือกรายการที่สนใจได้ ส่วนหนังสือพิมพ์ก็มีไว้ให้พ่ออ่าน เพราะพวกเราอ่านข่าวเป็นชิ้นๆ ตามที่เพื่อนแชร์ และอัลกอริธึมคัดสรรมาให้

เมื่อคนเสพสื่อจากชื่อแบรนด์น้อยลง การควบคุมคุณภาพก็สำคัญน้อยลง ในขณะเดียวกันออนไลน์ก็ไม่มีข้อจำกัดทางพื้นที่หรือเวลาเหมือนสื่อออฟไลน์ จึงสมเหตุสมผลกว่าที่จะผลิตข่าวแบบเน้นปริมาณ แล้วหวังให้มีข่าวที่ “ไวรัล” เยอะๆ

human interest story ➡️ clickbait ➡️ fake news

สรุปสมการแรงจูงใจของสื่อใหม่ได้ตามนี้ครับ: 1. ลดคุณภาพ 2. เพิ่มปริมาณ 3. ทำให้ลูกค้ายังอ่านต่อและอยู่บนเว็บไซต์นานที่สุด เริ่มฟังดูเหมือนสูตรสำเร็จของความฉิบหายหรือยัง? ผมจะบอกความลับที่ทำให้หนาวกว่านี้อีก:

สื่อคือเสาหลักในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปกครองโดยความยินยอมจากประชาชน

เคยคลิกเข้าไปอ่านเว็บข่าวที่สุดโต่งทางการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งไหมครับ? ยิ่งสุดโต่งมากเท่าไหร่ คุณภาพก็ยิ่งเป็นขยะลงเท่านั้น คุณภาพในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงความเป็นกลาง แต่หมายถึงความถูกต้องทางข้อเท็จจริง หรือประโยชน์สาธารณะจากการนำเสนอข้อมูลชิ้นนั้น คุณภาพไม่ได้ช่วยให้ลูกค้ามีอารมณ์ร่วม โกรธ ดีใจ สะใจ

อารมณ์ร่วม ➡️ การติดตาม/แชร์ ➡️ เม็ดเงินโฆษณา นี่คือสูตรสำเร็จซึ่ง สื่อเก่าที่เล่นข่าวกระแส ก็รู้มาตั้งนานแล้ว แต่มีความเหนียมอายกว่าสื่อที่เกิดขึ้นใหม่เช่น Kapook, TNEWS ที่ไม่มีอะไรต้องเสีย

ทีนี้ถ้าสรุปตัวละครทั้งหมดในภาพยนตร์ของเรา พร้อมทั้งแรงจูงใจของพวกเขา

  1. สื่อขยะ ขายข่าวซึ่งคนอ่านเพราะสอดคล้องกับความเชื่อของตัวเอง ขายอารมณ์ร่วม ยิ่งอุณหภูมิทางการเมืองคุกรุ่น บรรยากาศมีความขัดแย้งสูง ยิ่งขายดีขึ้น
  2. แพลตฟอร์มเช่นเฟซบุ๊ก แสดงลิงค์ที่ทำให้ผู้ใช้อยากคลิกไปอ่าน อยากไลค์ อยากแชร์ ยิ่งคนมี engagement เยอะ แพลตฟอร์มยิ่งน่ากลับมาใช้งานมากขึ้น
  3. คนธรรมดา คลิกพาดหัวที่ตัวเองมีอารมณ์ร่วม แชร์ข่าวที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ยิ่งเห็นแต่คนที่คิดเหมือนๆ กัน ยิ่งมั่นใจในจุดยืนนั้นมากขึ้น
  4. สื่อหลัก มีกองบรรณาธิการเป็นอนุสรณ์ตกค้างจากยุคก่อน ที่มีหน้าที่ซึ่งสวนทางกับแรงจูงใจทางการเงินของบริษัท เผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงจากคอนเทนต์ฟรีบนอินเตอร์เน็ต และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทำให้โอนเอียงต่อกระแสของสื่อใหม่มากขึ้น
  5. ที่ขาดไม่ได้เลยคือเม็ดเงินโฆษณา ที่นับวันจะโถมไปลงกับสื่อดิจิทัลมากขึ้น และหล่อเลี้ยงโมเดลธุรกิจของทุกคนเอาไว้

เช่นเดียวกับในหนัง ไม่มีใครเห็นตัวเองเป็นคนร้าย มีแค่คนที่เล่นเฟซบุ๊กขณะรอรถไฟฟ้า คนที่อยากทำข่าวให้จับใจผู้ชมที่สุด คนที่พยายามประคับประคองธุรกิจตามบรรษัทภิบาล กลับบ้านไปก็เล่นกับลูกเมีย เลี้ยงหมา ไหว้พระ

แต่เมื่อรวมกันแล้ว สามารถทำให้คนงมงายในหวย, ผลิตสงครามอิรัก, หรือเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้งก็ได้

★ อ่านต่อหน้า 7


หมายเหตุ: ผมเชื่อว่าในระดับของตัวบุคคลแล้ว นักข่าวส่วนมากตระหนักถึงผลกระทบของงานตัวเอง และยึดถือจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด (ยิ่งกว่าหลายวิชาชีพเช่นโปรแกรมเมอร์ด้วยซ้ำไป) แต่จรรยาบรรณอาจไม่เพียงพอจะเปลี่ยนทิศทางของอุตสาหกรรมได้ครับ

 
0
Kudos
 
0
Kudos

Now read this

สัตว์เลี้ยงหาย

สัตวเลียงหาย - นิว อายุ 6 ปี 4 เดือน พันธุ neural network นิวเปนการบานวิชา bio-inspired optimization ทีผมรันทิงไวขามคืนแลวเผลอหลับไป พอตืนเชามากพบวานิว self-aware ชือทางวิทยาศาสตรของนิวคือ recurrent neural network ทีเลียงดวย supervised... Continue →