ไอเดีย

เรามักคุ้นชินกับมุมมองที่ว่ามนุษย์เป็นผู้ผลิตและบริโภคไอเดีย (ข้อมูล ข่าวสาร และคอนเซปต์) จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามองกลับกัน ไอเดียเป็นผู้กระทำ (agent) ส่วนมนุษย์เป็นเป้าหมายของมัน?

ไอเดียที่เป็นนามธรรม จะเป็นผู้กระทำไปได้อย่างไร? คนที่แก่พอจะเคยใช้อีเมลสมัยไวรัสระบาด น่าจะเคยโดนไอทีเตือนว่าห้ามเปิด attachment ที่มีนามสกุล exe เพราะไวรัสจะกินเครื่อง อันที่จริง ไฟล์นามสกุล exe ก็เป็นแค่ไฟล์เอกสารธรรมดา แต่เป็นเอกสารที่บรรจุชุดคำสั่ง ที่สมองคอมพิวเตอร์รันแล้วจะเอ๋อได้ ดังนั้นไอเดียก็เป็นผู้กระทำได้แน่นอน

มันมีไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ได้กระทำคอมพิวเตอร์ แต่ทำให้คนเอ๋อมั้ย? ง่ายสุดที่ผมนึกออกคือไฟล์นามสกุล jpg ไอทีมักจะคิดว่าไฟล์นามสกุล jpg ปลอดภัย แต่ที่จริงแล้วไฟล์ jpg นั้นอาจจะบรรจุชุดคำสั่งที่ทำให้คุณยิ้ม ทำให้คุณอาย หรือทำให้คุณอ้วก ทำให้คุณเกิดอารมณ์โมโห หรือเกิดอารมณ์ทางเพศ ไวรัสเหล่านี้ล็อคเป้าไปยังสมองส่วนที่คุณไม่มีอำนาจควบคุม นั่นก็คือสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์

kyaw-tun-317752-unsplash.jpg

เคราะห์ดีที่มนุษย์เรามีสติและกระบวนการไตร่ตรอง ลำพังแค่อารมณ์ ไม่สามารถบังคับให้เราทำอะไรโดยเจตนาได้… หรือเปล่านะ?

ผมขอแนะนำให้รู้จักไฟล์นามสกุล txt ซึ่งฟังดูไร้เดียงสา แต่น่ากลัวกว่าไฟล์ jpg เสียอีก ไฟล์ txt ตระกูลแรกคือตระกูลที่มีชุดคำสั่งที่ลงท้ายด้วยคำสั่งว่า “ส่งต่อไปยังเพื่อน 10 คน” มิฉะนั้น จะมีอันเป็นไป, มิฉะนั้น Hotmail จะปิด account! ไฟล์เหล่านี้มีผลให้คนจำนวนหนึ่งเผยแพร่มันออกไปในวงกว้างขึ้น เหมือนโรคติดต่อที่ใช้พวกเราเป็นพาหะจนระบาดไปนับล้านครั้ง แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามันมีชุดคำสั่งอื่นเช่น ไฟล์ txt ที่ตลกขบขัน หรือไฟล์ jpg รูปกระต่ายน้อยที่น่ารักเสียจนคุณไม่มีทางเลือกนอกจากจะส่งต่อมันด้วยความเต็มใจ?

ไอเดียย่อมไม่พึงพอใจอยู่แค่การทำจดหมายลูกโซ่ มันอยากทิ้งรอยเท้าไว้บนโลกของพวกมนุษย์มากกว่านั้นอีก จึงผ่าเหล่าเป็นไอเดียรูปแบบใหม่ๆ เช่น “Bitcoin จะถึง $100,000 ภายในเดือนหน้า” หรือ “การเดินตากฝนทำให้เป็นหวัดได้” ไอเดียเหล่านี้มาในรูปแบบของไลน์ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนคำพูดของแม่ที่ถ่ายทอดสู่ลูกมาหลายชั่วอายุคน

anastasia-zhenina-39177-unsplash.jpg

เราอาจจะรู้สึกว่า “กรุงบูดาเปสต์เป็นเมืองหลวงของฮังการี” กับ “ธาตุคาร์บอนมีหมายเลขอะตอม 6” เป็นไอเดียที่เราเปิดรับเข้ามาในชีวิตเพราะมันมีประโยชน์ แต่เราก็อาจจะพูดว่าไอเดียเหล่านี้ใช้ความมีประโยชน์ของตัวเองในการเผยแพร่และแทรกซึมเข้าไปในประชากรมนุษย์ เหมือนกับการมองว่าข้าวสาลีเป็นฝ่ายทำนาคน (ทำให้คนยุคหาของป่า ต้องลงหลักปักฐานและดูแลมัน) แทนที่คนจะเป็นฝ่ายทำนาข้าว

ในหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้ สังคมมนุษย์ได้วิวัฒนาการโครงสร้างการเผยแพร่ไอเดีย ในสเกลยักษ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนโลก มนุษย์ได้จัดเรียงตัวเองเป็นพาหะชั้นดีที่สุดในทรงของพีระมิด คนในระดับชั้นเดียวกันมีการแลกเปลี่ยนไอเดียอย่างสม่ำเสมอ คนในระดับล่างซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไอเดียลำดับแรกๆ เช่น “นักวิจัย”, “นักวิทยาศาสตร์”, “นักวิชาการ” ส่งต่อไอเดียขึ้นไปตามลำดับขั้นบันไดที่ติดป้ายชื่อว่า “สถาบัน”, “องค์กร”, “กระทรวง” และไอเดียก็ถูกทำซ้ำกลับลงมาในปริมาณมาก ผ่านทาง “อาจารย์” และ “นักข่าว” หลายทีก็ถูกแปรรูปให้ง่ายแก่การเผยแพร่มากขึ้น เช่นหนังสือและวิดีโอ

หนังสือเล่มหนึ่งเต็มปริ่มไปด้วยไอเดีย แต่พออ่านจบได้ 1 เดือนเราก็จำข้อความในหนังสือไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ได้อ่านโดยการคัดลอกข้อความมาใส่ในหัวสมอง หากแต่เรารันชุดคำสั่งในหนังสือนั้นให้มันแก้ไขโครงสร้างในสมองของเรา เสมือนว่าเราได้ import ประสบการณ์และปัญญาของผู้เขียนเข้ามาเป็นของเราโดยตรง เพื่อให้เรามีวิจารณญาณและมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น

ผู้บุกเบิกแนวคิดการมองไอเดียเป็นหน่วยของวิวัฒนาการเช่นนี้คือริชาร์ด ดอว์กินส์ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นคำว่ามีม (meme) ถูกนำมาใช้อธิบายความเชื่อพื้นบ้าน มุกภายในบนอินเตอร์เน็ต กระทั่งไวรัลมาร์เก็ตติ้ง ผมเชื่อว่ามุมมองที่เอามนุษย์ออกจากศูนย์กลางเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการวางแผน (emergent phenomena) มากขึ้น อย่างเช่นว่า blockchain เป็นโปรแกรมที่ไม่มีใครควบคุมได้ มันเพียงอาศัยคอมพิวเตอร์ของเราเป็นพาหะ

les-anderson-167377-unsplash.jpg

ขอบเขตของมีมอยู่ที่ไหน? กระทั่งไอเดียว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ก็เป็นอุปาทานหมู่ซึ่งไม่ยึดโยงกับข้อเท็จจริง เพราะเราประกอบขึ้นจากสายพันธุกรรมที่แตกต่างและเต็มไปด้วยความได้เปรียบเสียเปรียบ ความเท่าเทียมของมนุษย์คือข้อตกลงที่เรามีร่วมกันเพื่อเป็นรากฐานของความก้าวหน้าทางสังคม และตราเป็นกฎหมายผ่านธรรมนูญต่างๆ ทุกวันนี้เราเชื่อในไอเดียที่ว่ามนุษย์ที่ไม่ถูกกดขี่ จะปลดล็อกศักยภาพออกมาได้สูงสุด แต่อารยธรรมส่วนมากในอดีตก็รุ่งเรืองในยามสันติเป็นเวลานาน แม้มีระบบทาสและวรรณะเป็นไอเดียพื้นฐาน

ไอเดียที่โตเต็มวัยแล้วจะสังเกตได้จากการที่มันมีความแข็งแรงทนทาน อยู่มาได้เป็นพันปี ฝังในหัวของมนุษย์เป็นล้านๆ คน อีกทั้งยังค้ำจุนโครงสร้างระหว่างมนุษย์เหล่านี้เพื่อให้กระบวนการสำเนาตัวเองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทุกศาสนาที่อยู่รอดเป็นเวลานานจะต้องมีศาสนบุคคลที่ทำหน้าที่เผยแผ่ไอเดีย ศาสนพิธีที่เพิ่มความร่วมมือระหว่างมนุษย์ และข้อกำหนดซึ่งเพิ่มอัตราผลิตซ้ำของไอเดียนั้น เช่นเมื่อแต่งงานแล้วลูกหรือคู่ครองจะต้องเปลี่ยนศาสนาตาม

baptism-2556189_1920.jpg

ไอเดียที่ดีที่สุดมักเป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเราตลอดเวลา ปัญญาซึ่งประยุกต์ใช้ได้หลายสถานการณ์, ประสบการณ์กระชากอารมณ์ที่เราไม่ลืม, ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เปลี่ยนเราเป็นคนละคน ตลอดจนคุณค่าที่มนุษย์ทุกสมัยเห็นตรงกัน ความงาม ความรัก ความยุติธรรม ความเอื้ออาทร การแสวงหาความจริง

ไอเดียที่แย่ที่สุด ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ลัทธิอารยันของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์? ระบอบสังคมนิยม? เพลงที่ฟังแล้วทำให้ฆ่าตัวตายหมู่? หนังสือที่อ่านแล้วเป็นบ้าถาวร?

 
15
Kudos
 
15
Kudos

Now read this

คินาบาลู ปีนคนเดียวแบบเพื่อนไม่คบ

คินาบาลูจัดวาเปนเขาทีเปนมิตรตอมือใหม มีสิงอำนวยความสะดวกเยอะพอประมาณ ทีพักสะอาด นำไหลไฟสวาง อาหารกินอิมทุกมือ แตถึงกระนันวิวกไมเปนทีสองรองใครเลย คนไทยทีสนใจจะไปปีนกมีตัวเครืองบินโลวคอสตไปถึง โดยแวะเปลียนเครืองที Kuala Lumpur แลวเดินทางต... Continue →