3 ปี ที่เป็น Official Partner กับบริษัทสีน้ำเงิน

Prathan Thananart with Mark Zuckerberg

ปีแรกของการทำบริษัท ผมได้รับอีเมลจากเพื่อนนักข่าว “มีคนที่ Facebook Singapore อยากรู้จักคุณน่ะ” เราแลกเบอร์โทรกัน เธอแนะนำตัวว่าอยู่ทีมสนับสนุน SME โดยทำงานกับลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซ

เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือแบบช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเรากับบริษัทสีน้ำเงิน ในขณะที่เขาสนับสนุนเรื่อง API และแชร์ roadmap ให้เรารู้ล่วงหน้า เราก็ป้อน insight ให้เขานำไปพัฒนาโปรดักต์ได้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยยิ่งขึ้น

เวลาล่วงมาหลายปี ยอดผู้ใช้ของ Page365 โตทะลุ 100,000 ร้านค้า ตัวเลขเดียวกันนี้ปรากฏอยู่บนหลังบ้านของ FB OAuth ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เราเป็นพันธมิตรที่มีทีม FB จากอเมริกาบินมาประชุมด้วยบ่อยจนผมต้องขอให้เพลาบ้าง พนักงานเรามีแค่หยิบมือเดียว

ในขณะเดียวกันโปรดักต์ของ FB เริ่มจะพึ่ง 3rd party อย่างเราน้อยลง

Facebook Pages Manager

Messenger ตั้งข้อความอัตโนมัติได้ ตั้งแท็กได้, เพจก็มี shop section, แอป Pages Manager ก็รวมคอมเมนต์ และรวม Instagram เข้ามาด้วย พวกเราตั้งข้อสังเกตว่า FB จะลงมาเล่นเกมนี้เต็มตัวเมื่อไหร่

หลายบริษัทต่างชาติ อยากเข้ามาเจาะ Southeast Asia

ภูมิภาคเรายังไม่มีเจ้าถิ่นที่ชัดเจน แต่พฤติกรรมอีคอมเมิร์ซที่ไม่เหมือนใครนี้ก็เป็นปราการ ถ้า Amazon มาเจอคนไลฟ์ขายของ, ขอราคาใน inbox, หรือแนบสลิปโอนเงิน อาจจะเอาตีนก่ายหน้าผากกลับบ้านไปเลย

แต่ไม่ใช่กับ FB เขาเดินหน้าคุยกับ 2C2P ให้ merchant สามารถรับบัตรเครดิตได้ คุยกับ KBank ให้ร้านค้าสามารถ request payment ผ่าน K PLUS ได้ คุยกับ Page365 เพื่อ sync ข้อมูลธุรกรรม และระหว่างนี้ก็คงจะคุยกับไปรษณีย์ไทยไปด้วย

Pay by K PLUS

ที่เล่นใหญ่ที่สุดคือการปล่อย Marketplace ใน 60 ประเทศ แต่ละประเทศใช้งานได้คนละแบบ บางที่เป็น B2C บ้าง C2C

หมายความว่า ขณะที่ FB มาเก็บข้อมูลว่าประเทศไทยซื้อขายของกันยังไง ก็ส่งทีมลักษณะเดียวกันไปทุกประเทศ จนสามารถออกโปรดักต์ที่ unified แต่ customized สำหรับทุกตลาดได้

ในอุตสาหกรรมเรา ผู้เล่นทุกคนพยายามขยายตัวตามแนว value chain ตลอดเวลา แอปอยากเขี่ยเวนเดอร์ทิ้ง เวนเดอร์ก็ชอบเข็นแอปมาแข่งเอง (ให้นึกถึง LINE MAN ที่เริ่มต้นด้วย fleet Lalamove) ถึงอย่างนั้น ทุกคนมักมีปราการตามธรรมชาติที่ตัวเองถนัดที่สุด ยังไงเลอแปงก็ไม่อร่อยเท่าฟาร์มเฮาส์

พอรู้จักกับ FB ผมพบว่าเส้นพรมแดนไม่ได้เป็นปราการสำคัญอีกต่อไป โปรดักต์ที่น่าทึ่งที่สุดของ FB คือ “องค์กร” ซึ่งเต็มไปด้วยโปรแกรมเมอร์หัวกะทิ กระจุกอยู่ในมุมเดียวของอ่าวแคลิฟอร์เนีย แต่สามารถ innovate โปรดักต์ ที่ทะลวงตลาดห่างออกไป 12 เขตเวลา ได้คล่องตัวเทียบเท่า startup ท้องถิ่น

Menlo Park office sign

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้ร่วมประชุมกับคุณมาร์ก ซึ่งเพิ่งตบตีกับคองเกรสจบ ในสายตาของคนนอก FB เป็นบริษัทที่กำลังเผชิญวิกฤติศรัทธา ทั้งเรื่องขายสื่อแทรกแซงการเลือกตั้ง ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับ Cambridge Analytica และปัญหาคนเสพติด social media ซึ่งนำไปสู่กระแส #DeleteFacebook แต่ผมไม่สงสัยเลยว่า FB มีความสามารถที่จะปรับโครงสร้างที่จำเป็นใดๆ ในองค์กร ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

พายุข่าวด้านลบยังทำอะไรราคาหุ้นไม่ได้ หุ้นเพิ่งจะร่วงตอนที่นักลงทุนเชื่อว่าคุณมาร์กตั้งใจจะลดปัญหาเสพติด social media จริง ทุบหม้อข้าวตัวเอง แลกกับให้คนไม่เลิกใช้ FB ในระยะยาว

ทุกคนที่ผมเคยได้ติดต่อ หรือคุยงานด้วยในบริษัทสีน้ำเงิน ล้วนแต่ท็อปฟอร์มในงานของตัวเอง และฉลาดเป็นกรดแบบที่แทบไม่เจอองค์กรไหนทัดเทียม (อาจจะยกเว้นบริษัท 4 สี) ทุกคนต่างรู้ดีว่าตัวเองทำอะไรอยู่

การทำงานกับคู่ค้าแบบนี้จะหยุดพักไม่ได้เลย รู้ตัวอีกทีอาจจะโดนเบียดตกสนามไปเหมือน Tinder

ภูมิทัศน์เปลี่ยน เกมธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม ในตลาดที่ไม่เล็กอีกต่อไปนี้ บริษัทสีเขียวก็สู้ยิบตา ไหนจะบริษัทสีส้มที่มีญาติอยู่ประเทศจีน ทุกคนมีฐานผู้ใช้หลักล้าน กำเงินถุงเงินถังมาฟาดกันทั้งนั้น วันนี้ Page365 เลยคุยกับทุกคน คอยหลบลูกหลงไม่ให้ถูกเหยียบแบน

แต่เราอาจไม่ได้มาไกลถึงจุดนี้ หากปราศจากพาร์ทเนอร์คนแรกของเรา 🤝

F8 2018 conference in San Jose


บทความนี้เป็นทรรศนะส่วนตัว และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใดภายใต้ NDA

 
43
Kudos
 
43
Kudos

Now read this

Retrospective

เรืองดีๆ ทีนึกออกอยางแรกของปี 2016 คือปีนีอานหนังสือจบ 15 เลม ถึงจะเปนนิยายซะเกินครึง แตกเปนนิยายฮิวโก เนบิวลา หาดาว ทีคุมคาแกการอดหลับอดนอนทังนัน นอกจากนียังบรรลุความตังใจอีกขอ คือขยายขอบเขตการอานของตัวเอง โดยใช Goodreads แอบดูวาเพือนๆ... Continue →